เขตปลอดอากร คือ เขตพื้นที่ที่กำหนดไว้ เพื่อประโยชน์ทางอากรศุลกากรในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ โดยผู้ที่ประสงค์จะจัดตั้งเขตปลอดอากรต้องได้รับใบอนุญาตจากอธิบดี
สิทธิประโยชน์ตามกฎหมายศุลกากร
1. ได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าสำหรับของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรเพื่อเข้าไปในเขตปลอดอากร ดังนี้
- เครื่องจักร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้รวมทั้งส่วนประกอบที่จำเป็นต่อการประกอบกิจการ โดยให้รวมถึงของที่ใช้ในการสร้างประกอบหรือติดตั้งโรงงานหรืออาคารในเขตปลอดอากร
- ของที่นำเข้ามาเพื่อใช้ในการประกอบอุตสาหกรรม พาณิชยกรรม หรือกิจการอื่นใดที่เป็นประโยชน์แก่การเศรษฐกิจของประเทศ
- ของที่ปล่อยออกมาจากเขตปลอดอากรอื่น
2. ได้รับการยกเว้นอาการขาออกสำหรับของที่ปล่อยออกไปจากเขตปลอดอากรเพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักร
3. ในกรณีที่มีกฎหมายบัญญัติให้ของใดได้รับการยกเว้น หรือคืนอากรเมื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรหากนำของนั้นเข้าไปในเขตปลอดอากรให้ได้รับยกเว้นหรือคืนอากร โดยให้ถือว่าของนั้นได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักรในเวลาที่ได้นำของนั้นเข้าไปในเขตปลอดอากร
4. ได้รับการยกเว้นไม่อยู่ภายใต้บังคับของกฎหมายที่เกี่ยวกับการควบคุมการนำเข้ามาในราชอาณาจักร การส่งออกไปนอกราชอาณาจักร การครอบครองหรือการใช้ประโยชน์ซึ่งของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรหรือวัตถุดิบภายในราชอาณาจักร ที่นำเข้าไปในเขตปลอดอากรเพื่อผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการด้วยวิธีอื่นใดกับของนั้น เพื่อส่งออกไปนอกราชอาณาจักรเฉพาะผู้ประกอบการในเขตปลอดอากรดังนี้
- เขตปลอดอากร ณ สนามบินดอนเมือง สนามบินสุวรรณภูมิ และสนามบินอู่ตะเภา
- เขตปลอดอากรที่จัดตั้งในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ
- เขตปลอดอากรที่จัดตั้งในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก
สิทธิประโยชน์ตามประกาศกระทรวงการคลัง
1. ลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 0 จากของที่ได้จากการนำวัตถุดิบเข้ามาผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดในลักษณะอุตสาหกรรมในเขตปลอดอากร ซึ่งนำมาจำหน่ายหรือบริโภคภายในประเทศ มีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขสำคัญ ดังนี้
- ของนั้นต้องมีผลรวมของมูลค่าวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดในประเทศไทยหรือรวมกับมูลค่าวัตถุดิบที่ได้ถิ่นกำเนิดจากประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ต้นทุนค่าแรง ต้นทุนการผลิตอื่น ๆที่เกิดขึ้นจริงในประเทศไทยเพื่อให้ได้มาซึ่งของนั้น และกำไรไม่น้อยกว่าร้อยละ 40 ของราคาของของหน้าโรงงาน - ของนั้นต้องผ่านกระบวนการผลิตที่เป็นสาระสำคัญในเขตปลอดอากร
2. ลดอัตราอากรลงเหลือร้อยละ 5 ของที่ลดอัตราลงคือ เศษ เศษตัด และของที่ใช้ไม่ได้ที่เป็นพลาสติกตามประเภท 39.15 ที่เกิดจากการนำเข้าของ ไม่ว่าจะอยู่ในพิกัดประเภทใดมาผ่านกระบวนการผลิต ผสม หรือประกอบเพื่อส่งออกในเขตปลอดอากร ซึ่งมิได้ส่งออกไปนอกราชอาณาจักร แต่จำหน่ายหรือนำไปใช้ในการอื่น
3. ยกเว้นอากรจากผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการนำของภายในประเทศหรือของนำเข้าที่ได้ชำระอากรแล้ว ซึ่งไม่มีสิทธิ์ได้รับการคืนหรือยกเว้นอากรตามกฎหมายว่าด้วยศุลกากรหรือกฎหมายอื่นเข้ามาผลิต ผสม ประกอบ บรรจุ หรือดำเนินการอื่นใดในเขตปลอดอากร โดยไม่มีส่วนของของในเขตปลอดอากรอยู่ในผลิตภัณฑ์นั้น และนำมาจำหน่ายหรือบริโภคภายในประเทศ
4. ลดอัตราอากรหรือยกเว้นอากรศุลกากรลงเท่ากับอัตราอากรที่ได้รับสิทธิพิเศษภายใต้สัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศในขณะที่นำของนั้นเข้ามาในราชอาณาจักร ของที่ได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้สัญญาหรือความตกลงระหว่างประเทศที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรและนำเข้าไปในเขตปลอดอากร เพื่อการดำเนินการในลักษณะพาณิชยกรรม โดยไม่เปลี่ยนแปลงประเภทพิกัดอัตราศุลกากรและไม่มีส่วนของของอื่นใดในเขตปลอดอากรอยู่ในของนั้น ซึ่งนำมาจำหน่ายหรือบริโภคภายในประเทศ
นอกจากนี้ยังมีผู้ขอจัดตั้งเขตปลอดอากร เพื่ออำนวยประโยชน์ให้ผู้ประกอบการในนิคม เช่น เขตปลอดอากรนวนคร เขตปลอดอากรอมตะนคร เขตปลอดอากรอีสเทิร์นซีบอร์ด เขตปลอดอากร BMW เขตปลอดอากรฟูจิตสึประเทศไทย เป็นต้น หรือสามารถหาเขตปลอดอากรอื่นได้จาก https://bit.ly/2ygHRZW
หากสนใจหรือมีข้อสงสัยเกี่ยวกับเขตปลอดอากร สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ คลินิกสิทธิประโยชน์ (Tax Incentives Clinic) ชั้น 2 อาคารเฉลิมพระเกียรติ กรมศุลกากร เลขที่ 1 ถ.สุนทรโกษา คลองเตย กทม. 10110 โทร 02-6677000 ต่อ 5179 อีเมลล์ [email protected] หรือ [email protected]
แหล่งที่มา : https://bit.ly/2z5qufj , https://bit.ly/2LL9fm5