การขนส่งมีความเจริญก้าวหน้าและมีการพัฒนามากในปัจจุบัน มีวิธีการขนส่งให้ผู้ประกอบธุรกิจเลือกได้หลายวิธี ผู้ประกอบธุรกิจสามารถเลือกวิธีการขนส่งที่เหมาะสมกับธุรกิจของตนเอง การขนส่งที่มีประสิทธิภาพจะสามารถทำให้มีต้นทุนที่ต่ำและกำไรที่สูงยิ่งขึ้น ซึ่งการขนส่งยังเป็นองค์ประกอบหนึ่งที่สนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจและก่อให้เกิดการขยายตัวทางเศรษฐกิจภายในประเทศอย่างยั่งยืน และยังเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศ
โดยทั่วไปการการขนส่งได้แบ่งออกเป็น3ประเภทใหญ่ๆ ซึ่งได้แก่ การขนส่งทางบก, การขนส่งทางน้ำ, การขนส่งทางอากาศ
และสามารถแบ่งตามลักษณะของเส้นทาง หรืออุปกรณ์ที่ใช้ในการขนส่งแล้ว แบ่งออกเป็น 6 ประเภทคือ
1. การขนส่งทางรถยนต์ (Motor Transportation) หรือรถบรรทุก (Truck Transportation)
เป็นรูปแบบการขนส่งที่ได้รับความนิยมใช้ขนส่งสินค้าภายในประเทศมากที่สุด สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตและแหล่งบริโภคได้โดยตรง (door-to-door) เนื่องจากมีถนนที่เชื่อมต่อภูมิภาคต่าง ๆ ครอบคลุมทั่วประเทศ มีหน่วยบรรทุก (unit load) ขนาดเล็ก และสามารถจัดหาพาหนะ ได้สะดวก ทำให้สามารถขนส่งสินค้าไปที่จุดหมายปลายทางที่แตกต่างกันได้สะดวก ประกอบกับการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ มีข้อจำกัดด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่สามารถรองรับความต้องการขนส่งสินค้าได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพ และไม่สามารถให้บริการขนส่งจากแหล่งผลิตถึงแหล่งบริโภคได้โดยตรง และจำเป็นต้องใช้การขนส่งทางถนนเป็น Feeder ดังนั้นโดยรวมแล้วการขนส่งสินค้าทางถนนจึงได้เปรียบการขนส่งรูปแบบอื่นๆ ในแง่ของการเป็นการขนส่งรูปแบบเดี่ยว (Single Mode) ที่สามารถเข้าถึงแหล่งผลิตและแหล่งบริโภค ได้โดยตรง ทำให้สามารถให้บริการรวบรวมและกระจายสินค้าได้ดีเมื่อเปรียบเทียบกับการขนส่งรูปแบบอื่น ๆ
ข้อดี
1. ประหยัด ขนส่งสินค้าได้จำนวนมากหลายชนิด
2. ขนส่งสินค้าได้ตลอดเวลาตามความต้องการของลูกค้า
3. เหมาะกับการขนส่งระยะสั้นและระยะกลาง
4. เป็นตัวเชื่อมในการขนส่งแบบอื่นที่ไม่สามารถไปถึงจุดหมายได้โดยตรง
ข้อเสีย
1. ค่าขนส่งสูงเมื่อเทียบกับการขนส่งทางรถไฟ
2. ความยืดหยุ่นมีน้อย เพราะมีเส้นทางตายตัว
3. กำหนดเวลาแน่นอนไม่ได้ ขึ้นอยู่กับสภาพการจราจรและดินฟ้าอากาศ
4. ขนส่งสินค้าได้ในปริมาณและขนาดที่จำกัด
2. การขนส่งแบบราง (Rail transport)
การขนส่งสินค้าแบบรางหรือทางรถไฟสามารถขนส่งสินค้าได้ครั้งละจำนวนมาก ค่าใช้จ่ายในการขนส่งต่อหน่วยประหยัดรวมทั้งก่อให้เกิดมลภาวะน้อยกว่าทางถนน โดยรูปแบบของรถสินค้าที่ใช้กันมีหลายประเภท เช่น รถไฟตู้บรรทุกสินค้าทั่วไป (Box car for general commodities) รถไฟบรรทุกน้ำมันและก๊าซ (Tanker for liquid and gas) เป็นต้น นอกจากนี้ การขนส่งทางรถไฟสามารถใช้ขนส่งตู้คอนเทนเนอร์ได้ จึงเหมาะกับการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ โดยการขนส่งสินค้าในระยะทางไกลจะใช้รถไฟ อย่างไรก็ตามการขนส่งทางรถไฟมักไม่มีความต่อเนื่องและไม่ตรงเวลา และขบวนรถไฟมีจำกัด ไม่เพียงพอต่อความต้องการขนส่งสินค้าการขนส่งเส้นทางตายตัวดังนั้นจึงต้องมีปริมาณการใช้ที่สูงจึงจะเกิดความคุ้มค่าในการสร้างเส้นทางหนึ่งๆขึ้นมาเหมาะสำหรับการขนส่งสินค้าปริมาณมากและในระยะทางไกล
ข้อดี
1.ต้นทุนค่อนข้างต่ำ สามารถขนส่งสินค้าได้ทีละมากๆ
2.ขนส่งได้ทุกสภาพดินฟ้าอากาศ
3.สะดวก เพราะมีตู้หลายชนิดให้เลือกเพื่อความเหมาะสมกับสินค้าและมีความปลอดภัยสูง
ข้อเสีย
1.ใช้ระยะเวลานานต้องมีการขนถ่ายซ้ำ เพราะต้องมีการขนส่งจากสถานีรถไฟไปยังจุดปลายทาง
2.ต้นทุนบรรจุภัณฑ์สูงเพราะว่าระวางสินค้าจำเป็นต้องทนแรงกระแทกสูง
3.ความยืดหยุ่นมีน้อย เพราะมีเส้นทางตายตัว
3. การขนส่งทางน้ำ (Water Transportation)
เป็นการขนส่งที่ได้รับการนิยมเนื่องจากมีค่าใช้จ่ายที่ถูกที่สุดสามารถขนส่งสินค้าได้คราวละมากๆ การขนส่งทางน้ำ ซึ่งส่วนใหญ่ใช้สำหรับการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ การขนส่งทางทะเลจัดเป็นประเภทการขนส่งที่มีต้นทุนต่ำที่สุด โดยประเทศไทยมีการขนส่งสินค้านำเข้าและส่งออกโดยใช้การขนส่งทางทะเลมากขึ้นทุกปี การขนส่งทางน้ำนี้เหมาะสมกับสินค้าที่มีขนาดใหญ่และขนส่งสินค้าได้ปริมาณมาก
ข้อดี
1. อัตราค่าขนส่งถูกกว่าเมื่อเทียบกับการขนส่งทางอื่น
2. ขนส่งสินค้าได้ขนาดใหญ่และปริมาณที่มาก
3. สามารถส่งได้ระยะไกล ๆ
ข้อเสีย
1. มีความล่าช้าในการขนส่งตามสภาพอากาศ
2. ในฤดูน้ำลดหรือฤดูร้อน น้ำอาจมีน้อย ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการขนส่ง เพราะเรือเกยตื้นได้
3. ไม่สามารถกำหนดเวลาที่แน่นอนในการขนส่งได้ขึ้นอยู่กับภูมิอากาศ และ ภูมิประเทศ
4. การขนส่งทางอากาศ การขนส่งทางอากาศ (Air Transportation)
การขนส่งทางอากาศมีความสำคัญมากในปัจจุบัน โดยเฉพาะการขนส่งระหว่างประเทศเพราะทำการขนส่งได้รวดเร็วกว่าการขนส่งประเภทอื่นๆ ไม่เสียเวลาในการขนส่งนาน สะดวก เหมาะกับการขนส่งสินค้าประเภทที่สูญเสียง่าย เช่น ผัก ผลไม้ ดอกไม้ เป็นต้น หรือสินค้าต้องการสั่งจองมาด้วยความรวดเร็วแก่การใช้งาน ถ้าล่าช้าอาจเกิดความเสียหายได้ไม่เหมาะกับสินค้าที่มีขนาดใหญ่ น้ำหนักมากและสินค้าราคาถูกๆ ไม่รีบร้อนในการขนส่ง ซึ่งการขนส่งประเภทนี้ทำให้ธุรกิจสามารถขยายตัวได้รวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ แต่ค่าใช้จ่ายแพงกว่าการขนส่งประเภทอื่น
ข้อดี
1. สะดวก รวดเร็วที่สุด การส่งสินค้าทางอากาศนับว่ามีความรวดเร็วที่สุด
2. สามารถขนส่งกระจายไปทั่วถึงได้อย่างกว้างขวางทั้งใน ประเทศและระหว่างประเทศ
3. สามารถขนส่งไปในท้องถิ่นที่การขนส่งประเภทอื่นไปไม่ถึงหรือไปยากลำบาก
4. เหมาะกับการขนส่งระยะไกลๆ
5. เหมาะกับการขนส่งสินค้าที่เสียง่าย จำเป็นต้องถึงปลายทางรวดเร็ว
6. ขนส่งได้หลายเที่ยวในแต่ละวัน เพราะเครื่องบินขึ้นลงได้รวดเร็ว
7. ความแน่นอน มีตารางการบินที่แน่นอน สม่ำเสมอและตรงต่อเวลา
ข้อเสีย
1. ค่าใช้จ่ายในการขนส่งสูงกว่าประเภทอื่น
2. จำกัดขนาดและน้ำหนักของสินค้าที่บรรทุกจะมีขนาดใหญ่และน้ำหนักมากไม่ได้
3. บริการขนส่งได้เฉพาะเมืองที่มีท่าอากาศยานเท่านั้น
4. การขนส่งขึ้นอยู่กับสภาพภูมิอากาศ
5. การลงทุนและค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาอุปกรณ์สูง
5. การขนส่งทางท่อ (Pipeline Transportation)
เป็นระบบการขนส่งที่มีลักษณะเฉพาะเนื่องจากสินค้าที่ขนส่งต้องอยู่ในรูปของเหลว เป็นการขนส่งทางเดียวจากแหล่งผลิตไปยังปลายทาง สินค้าที่นิยมขนส่งทางท่อ ได้แก่ น้ำ น้ำมันดิบ ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและก๊าซธรรมชาติ ปัจจุบันการใช้ประโยชน์ท่อส่งน้ำมันยังไม่เต็มที่เท่าที่ควรจะเป็น ช่วงท่อที่ใช้งานมากที่สุด คือ ช่วงระหว่างคลังน้ำมันลำลูกกาไปยังสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งเป็นการส่งน้ำมันไปให้บริการแก่สายการบินต่างๆ แม้กระนั้นอัตราการใช้ประโยชน์ของช่วงดังกล่าวก็เพียงแค่ประมาณ 50% ของความจุ เท่านั้น ผู้ประกอบการยังนิยมขนส่งน้ำมันทางถนนมากกว่าเนื่องจากต้นทุนค่าขนส่งต่ำกว่า (เพราะว่าไม่ต้องลงทุนก่อสร้างท่อ) และมีโครงข่ายทั่วถึงทั้งประเทศ ผิดกับระบบท่อซึ่งกระจุกตัวอยู่ในภาคตะวันออกและรอบๆ พื้นที่กรุงเทพมหานครเท่านั้น
ข้อดี
1. ประหยัดต้นทุน เวลาในการขนย้ายสินค้า
2. สามารถขนส่งได้ทุกสภาพภูมิอากาศ
3. สามารถขนส่งได้ไม่จำกัดเวลาและปริมาณ
4. กำหนดเวลาการขนส่งได้แน่นอนชัดเจน
5. ประหยัดค่าแรง เพราะใช้กำลังคนน้อย
ข้อเสีย
1. ใช้ขนส่งได้เฉพาะสินค้าที่เป็นของเหลวหรือก๊าซเท่านั้น
2. ค่าใช้จ่ายในการลงทุนครั้งแรกสูง
3. ตรวจสอบหาจุดบกพร่องทำได้ยาก
4. ท่อหลักที่ใช้ขนส่งเมื่อวางแล้วเคลื่อนย้ายเปลี่ยนเส้นทางไม่ได้
5. ไม่เหมาะกับการขนส่งในภูมิประเทศที่มีแผ่นดินไหวบ่อย
6. การขนส่งด้วยตู้คอนเทนเนอร์ (Container System)
การขนส่งระบบคอนเทนเนอร์ เป็นการพัฒนาการขนส่งอีกขั้นหนึ่ง โดยที่จะขนส่งลงในตู้หรือกล่องเหล็กขนาดใหญ่ ที่เรียกว่า คอนเทนเนอร์ แล้วทำการขนส่งโดยรถบรรทุก รถไฟ หรือเครื่องบิน ไปยังจุดหมายปลายทางโดยไม่มีการขนถ่ายสินค้าออกจากตู้ระหว่างทำการขนส่งเที่ยวนั้น ซึ่งตู้คอนเทนเนอร์ต้องสร้างจากเหล็กที่ทนทานต่อสภาพลมฟ้าอากาศ สามารถวางไว้กลางแจ้ง ได้โดยปกติจะสร้างให้มีลักษณะแข็งแรงมาก เพื่อให้ทนทานต่อการยกขนถ่ายสินค้าและสับเปลี่ยนบรรทุกระหว่างรถบรรทุก รถไฟหรือเรือ ในการเคลื่อนย้ายตู้นี้จะใช้ปั้นจั่น ในการขนย้าย และจากคุณสมบัติดังกล่าว ตู้คอนเทนเนอร์ จึงสามารถป้องกันสินค้าชำรุดเสียหายได้เป็นอย่างดีขึ้นอยู่กับการจัดเรียงสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์อีกด้วย
ข้อดี
1. ทำให้ขนถ่ายสินค้าได้รวดเร็ว
2. ประหยัดค่าใช้จ่าย
3. สามารถขนส่งได้ปริมาณมาก
4. การสั่งจองเรือระวางเพื่อขนส่งสินค้าทำได้สะดวก
5. ตรวจนับสินค้าได้ง่าย
ข้อเสีย
1. จัดเรียงสินค้าไม่เหมาะต่อตู้คอนเทนเนอร์อาจเกิดความเสียหายต่อสินค้าได้มาก
2. ไม่เหมาะกับการขนส่งระยะสั้นสิ้นเปลืองเชื้อเพลิงมากกว่าเมื่อใช้วิธีขนส่งด้วยรถบรรทุก
การขนส่งแต่ละช่องทางนั้นมีข้อดี ข้อเสียที่ความแตกต่างกัน มีความปลอดภัยที่ สูง ปานกลาง หรือ ต่ำ ที่ขึนอยู่กับหลายปัจจัย เช่น สภาพอากาศ, อุบัติเหตุ หรือความมักง่ายของผู้ให้บริการ เป็นต้น ทั้งนี้ผู้ประกอบการธุรกิจสามารถเลือกช่องทางการขนส่งในแต่ละประเภทได้ตามความเหมาะสมของของธุรกิจ, สถานที่ตั้ง หรือ ประเภท ขนาด จำนวนของสินค้า เป็นต้น
แหล่งที่มา : https://bit.ly/2VJtp4g , https://bit.ly/2x55Yua