ท่าเรือที่สำคัญในประเทศไทยที่บริหารจัดการโดยการท่าเรือแห่งประเทศไทย มีจำนวน 5 แห่ง คือ
1. ท่าเรือกรุงเทพหรือท่าเรือคลองเตย
ตั้งอยู่ที่ใจกลางเมืองหลวงของประเทศไทย เป็นท่าเรือคอนเทนเนอร์เต็มรูปแบบและมีระยะเวลาการให้บริการต่อสาธารณะที่ต่อเนื่องยาวนาน ให้บริการเกี่ยวกับสินค้าทั่วไป ตู้สินค้า และสินค้าจากเรือ Ro / Ro ,บริการเรือชายฝั่ง และเรือลำเลียงภายในประเทศจอดขนถ่ายและขนส่งสินค้า, บริการโรงพักสินค้านอกเขตรั้วศุลกากร รับฝากเก็บสินค้าทั้งในโรงพักสินค้าและกลางแจ้ง, บริการขนส่งตู้สินค้าระหว่างท่าเรือกรุงเทพ – ท่าเรือแหลมฉบัง และพร้อมด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับให้บริการ ได้แก่ รถยก รถปั้นจั่นเคลื่อนที่ รถหัวลาก - รถหางลาก และรถบรรทุก ฯลฯ
พื้นที่หลังท่าสำหรับวางสินค้ารวมทั้งสิ้น 17,000 ตารางเมตร สามารถรองรับสินค้าที่มีน้ำหนักไม่เกิน 2 ตันต่อตารางเมตร
โรงพักสินค้า 1 และ 2 มีพื้นที่ภายในรวม 12,000 ตารางเมตร สามารถรองรับน้ำหนักสินค้าได้โดยเฉลี่ย 2.7 ตันต่อตารางเมตร
ท่าเทียบเรือเขื่อนตะวันตก สามารถรับเรือที่มีความยาวไม่เกิน 172.25 เมตร กินน้ำลึกไม่เกิน 8.23 เมตร
- ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป ท่าเทียบเรือความยาวหน้าท่ารวม 1,179 เมตร รับเรือได้พร้อมกัน 7 ลำในคราวเดียว
- ท่าเทียบเรือชายฝั่งและเรือลำเอียง ท่าเทียบเรือความยาว 348 เมตร รับเรือได้พร้อมกัน 2 ลำในคราวเดียว
- ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว ท่าเทียบเรือความยาว 133 เมตร รับเรือได้พร้อมกัน 1 ลำในคราวเดียว
ท่าเทียบเรือเขื่อนตะวันออก ระดับความลึก 8.23 เมตร สามารถรับเรือขนาด 10,000 - 12,000 เดดเวทตัน
-ท่าเทียบเรือตู้สินค้า 1 ความยาวท่ารวม 680 เมตร ประกอบด้วยท่าเทียบเรือย่อย 4 ท่า คือ ท่า 20A ความยาวหน้าท่า 162 เมตร, ท่า 20AB ความยาวหน้าท่า 152 เมตร, ท่า 20B ความยาวหน้าท่า 183 เมตร และท่า 20C ความยาวหน้าท่า 183 เมตร
-ท่าเทียบเรือตู้สินค้า 2 ความยาวท่ารวม 640.5 เมตร ประกอบด้วยท่าเทียบเรือย่อย 4 ท่า คือ ท่า 20D ความยาวหน้าท่า 183 เมตร, ท่า 20E ความยาวหน้าท่า 183 เมตร, ท่า 20F ความยาวหน้าท่า 183 เมตร และท่า 20G ความยาวหน้าท่า 91.5 เมตร
ท่าเทียบเรือท่องเที่ยว
- ท่าเรือกรุงเทพได้ปรับปรุงพื้นที่บริเวณท่าเทียบเรือ OB เป็นท่าเทียบเรือเฉพาะ สำหรับเรือท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ มีทั้งความสะดวก สะอาด ปลอดภัย และสวยงาม เพื่ออำนวยความสะดวกในการต้อนรับเรือท่องเที่ยว และสนับสนุน นโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวของรัฐบาล
- ท่าเรือกรุงเทพยังได้ปรับปรุงชั้นล่างตึก OB ให้เป็นห้องรับรองนักท่องเที่ยว โดยการให้เอกชนเช่าพื้นที่เพื่อเปิดเป็นคูหาให้บริการนักท่องเที่ยวในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งอนุญาตให้บริษัทตัวแทนเรือ นำยานพาหนะต่างๆ เข้ามาให้บริการนักท่องเที่ยวอีกด้วย
ท่าเรือกรุงเทพ ตั้งอยู่ที่ใจกลางเมือง แต่มีความแออัดไม่สามารถจอดเรือขนส่งสินค้าขนาดใหญ่ได้และเพราะว่าตั้งอยู่ใจกลางเมืองจึงทำให้ไม่สามารถขยายพื้นที่ออกไปได้ เลยมีการสร้างท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศเพื่อรองรับการขยายตัวตัวทางการค้าทางทะเลของประเทศ
2. ท่าเรือแหลมฉบัง
ท่าเรือแหลมฉบังเป็นท่าเรือน้ำลึกหลักในการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศ ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออกของประเทศไทย มีพื้นที่ขนาด 6,340 ไร่ ภายในท่าเรือประกอบด้วยท่าเทียบเรือ ดังนี้
แอ่งจอดเรือที่ 1 ขนาดกว้าง 450 เมตร ยาว 1,600 เมตร ความลึกบริเวณแอ่งจอดเรือ 14 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เขื่อนกั้นคลื่นยาว 1,300 เมตร สามารถรับเรือขนาด Panamax (ขนาด 60,000-80,000 dwt) ประกอบด้วยท่าเทียบเรือ 11 ท่า คือ ท่าเทียบเรือ ชุด A จำนวน 6 ท่า ได้แก่ A0, A1, A2, A3, A4 และ A5 และท่าเทียบเรือชุด B จำนวน 5 ท่า ได้แก่ B1, B2, B3, B4 และ B5
แอ่งจอดเรือที่ 2 ขนาดกว้าง 500 เมตร ยาว 1,800 เมตรความลึกบริเวณแอ่งจอดเรือ 16 เมตร จากระดับน้ำทะเลปานกลาง เขื่อนกั้นคลื่นยาว 1,900 เมตร สามารถรับเรือขนาด Panamax (ขนาด 80,000 dwt) ประกอบด้วยท่าเทียบเรือชุด C จำนวน 4 ท่า ได้แก่ C0, C1, C2 และ C3 และท่าเทียบเรือชุด D จำนวน 3 ท่า ได้แก่ D1, D2 และ D3
ท่าเทียบเรือสินค้าตู้
ท่าเทียบเรือตู้สินค้า 11 ท่าเรือ เป็นท่าเทียบเรือในแอ่งจอดที่ 1 จำนวน 5 ท่า ได้แก่ B1, B2, B3, B4 และ B5 ความยาวหน้าท่ารวม 1,600 เมตร และในแอ่งที่ 2 จำนวน 6 ท่า ได้แก่ ท่าเทียบเรือ C1, C2 และ C3 ความยาวหน้าท่ารวม 1,700 เมตร และท่าเทียบเรือ D1, D2 และ D3 ความยาวหน้าท่ารวม 1,700 เมตร ทำให้ท่าเรือแหลมฉบังมีขีดความสามารถในการรับตู้สินค้าถึง 10 ล้านตู้ต่อปี
ท่าเทียบเรือสินค้าทั่วไป สินค้าเทกอง และท่าเรือโดยสาร
ท่าเรือที่ให้บริการสินค้าทั่วไป สินค้าเทกอง และท่าเรือโดยสาร จำนวน 7 ท่า เป็นท่าเทียบเรือชุด A 6 ท่า ได้แก่ A0, A1, A2, A3, A4 และ A5 และท่าเทียบเรือชุด C 1 ท่า ได้แก่ C0
- ท่าเทียบเรือ A0 เป็นท่าเทียบเรือชายฝั่ง ความยาวหน้าท่า 590 เมตร ความลึกหน้าท่า 10 เมตร ขีดความสามารถในการรับเรือ 1,000 dwt
- ท่าเทียบเรือ A1 เป็นท่าเทียบเรือโดยสารและท่าเทียบเรือรถยนต์ (โร-โร) ความยาวหน้าท่า 350 เมตร ความลึกหน้าท่า 14 เมตร ขีดความสามารถในการรับเรือ 70,000 dwt
- ท่าเทียบเรือ A2 เป็นท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ ให้บริการขนส่งสินค้าทั่วไปและตู้สินค้า ความยาวหน้าท่า 400 เมตร ความลึกหน้าท่า 14 เมตร ขีดความสามารถในการรับเรือ 50,000 dwt
- ท่าเทียบเรือ A3 เป็นท่าเทียบเรือเอนกประสงค์ ให้บริการขนส่งสินค้าทั่วไปและตู้สินค้า ความยาวหน้าท่า 350 เมตร ความลึกหน้าท่า 14 เมตร ขีดความสามารถในการรับเรือ 83,000 dwt
- ท่าเทียบเรือ A4 เป็นท่าเทียบเรือสินค้าเทกองประเภทน้ำตาลและกากน้ำตาล (โมลาส) และสินค้าทั่วไป ความยาวหน้าท่า 250 เมตร ความลึกหน้าท่า 14 เมตร ขีดความสามารถในการรับเรือ 40,000 dwt
- ท่าเทียบเรือ A5 เป็นท่าเทียบเรือโร-โร เพื่อรองรับรถยนต์ส่งออก ความยาวหน้าท่า 527 เมตร ความลึกหน้าท่า 14 เมตร ขีดความสามารถในการรับเรือ 70,000 dwt
- ท่าเทียบเรือ C0 เป็นท่าเทียบเรือโร-โร ความยาวหน้าท่า 500 เมตร ความลึกหน้าท่า 16 เมตร ขีดความสามารถในการรับเรือ 80,000 dwt
อู่ต่อเรือ
อู่ต่อเรือ ตั้งอยู่ในพื้นที่สำรองด้านเหนือสุดของท่าเทียบเรีอฝั่ง A โดยบริษัท ยูนิไทย ชิปยาร์ด แอนด์เอ็นจิเนียริ่ง จำกัด เช่าพื้นที่ถมทะเลด้านเหนือประมาณ 300 ไร่ ประกอบด้วยอู่ลอย (Floating Dock) 2 อู่ สามารถซ่อมเรือขนาดไม่เกิน 140,000 dwt ความยาวไม่เกิน 282 เมตร น้ำหนักตัวเรือไม่เกิน 40,000 ตัน
โดยในขณะนี้ ท่าเรือแหลมฉบัง ได้มีการพัฒนาเรียบร้อยแล้วทั้งสิ้น 2 เฟส และกำลังอยู่ในขั้นตอนของการดำเนินการพัฒนาเฟสที่ 3
เฟส 1 ปี 1987-1998 : การพัฒนาแอ่งจอดเรือ 1 ให้บริการที่หลากหลาย โดยครอบคลุมบริการจัดการยกขนสินค้า คลังสินค้าและการกระจายสินค้า บริการเรือนำร่อง บริการบำบัดน้ำเสีย การกำจัดขยะ และการซ่อมบำรุงรักษาเรือ โดยมีพื้นที่อู่เรือลอยน้ำขนาด 140,000 DWT
เฟส 2: ปี 1998-2008 : การพัฒนาแอ่งจอดเรือ 2 ได้รับการพัฒนาเพื่อเสริมศักยภาพการให้บริการด้านอื่นๆ ด้วย เช่น สถานีตรวจและบรรจุตู้สินค้า (CFS) และการพัฒนาเส้นทางให้เชื่อมต่อกับทางหลวงสายหลักของประเทศเพื่อช่วยให้สามารถเข้าถึงพื้นที่อื่นๆ ในประเทศที่อยู่ห่างไกลจากท่าเรือ ซึ่งการพัฒนาเหล่านี้ได้ทำให้ท่าเรือแหลมฉบังเป็นที่ดึงดูดมากขึ้น ในฐานะท่าเรือซึ่งเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับสายการเดินเรือที่ปฏิบัติการในเส้นทางการค้าระหว่าง เอเชีย-อเมริกาเหนือ และเอเชีย-ยุโรป
เฟส 3: ปี 2011-2020 : การพัฒนาเฟสที่ 3 โครงสร้างท่าเรือแหลมฉบัง เฟส 3 จะออกแบบเป็นรูปตัว U มีขนาดความกว้าง 800 ขนาดความยาว 2,000 เมตร ความลึก 18 เมตร ซึ่งสามารถรองรับเรือขนาด Super-Post Panamax พร้อมพื้นที่ระวางสินค้าขนาดมากกว่า 10,000 ทีอียู โดยท่าเรือดังกล่าว สามารถรองรับปริมาณสินค้าได้ 8 ล้านทีอียู
3. ท่าเรือระนอง
เป็นประตูการค้าทางฝั่งทะเลอันดามันของไทย สามารถขนส่งสินค้า/ตู้สินค้าเชื่อมโยงเส้นทางการค้ากับประเทศในเอเชียใต้ แอฟริกา ยุโรป และกลุ่มสมาชิกประเทศต่างๆ มีสิ่งอำนวยความสะดวกมากมาย เช่น เครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุก/ตู้สินค้า, ด่านตรวจสอบสินค้า (Checking), ปลั๊กเสียบตู้สินค้าห้องเย็น, อาคารเรือนรับรอง, อาคาร One stop service และลานจอดรถบรรทุก
เครื่องมือทุ่นแรงที่ให้บริการภายในท่าเรือระนอง
เพื่อการให้บริการเรือและสินค้าที่มีความสะดวก รวดเร็ว และปลอดภัย ท่าเรือระนองมีสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ ได้แก่ เครื่องมือทุ่นแรงประเภทต่างๆ สำหรับใช้ในการยกขนและเคลื่อนย้ายสินค้าภายในท่าเรือระนองจะประกอบไปด้วย
- ท่าเทียบเรือตู้สินค้า ขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 150 เมตร รองรับเรือสินค้าไม่เกิน 12,000 เดดเวทตัน จอดเทียบท่าได้ครั้งละ 1 ลำ มีสะพานเชื่อมฝั่งกว้าง 7.5 เมตร ยาว 212 เมตร และสะพานเชื่อมกับท่าเรืออนกประสงค์ กว้าง 8.5 เมตร ยาว 40 เมตร
- ท่าเทียบเรืออเนกประสงค์ ขนาดกว้าง 26 เมตร ยาว 134 เมตร รองรับเรือสินค้าไม่เกิน 500 ตันกรอส จอดเทียบท่าได้พร้อมกัน 2 ลำ มีสะพานเชื่อมฝั่ง ขนาดกว้าง 10 เมตร ยาว 212 เมตร จำนวน 2 สะพาน
- โรงพักสินค้า 1 หลัง ขนาดพื้นที่ 1,500 ตารางเมตร
- ลานวางสินค้าทั่วไป ขนาดพื้นที่ 7,200 ตารางเมตร
- ลานวางตู้สินค้า ขนาดพื้นที่ 11,000 ตารางเมตร
- ถังบรรจุของเหลว (คลังทัณฑ์บน)
4. ท่าเรือพาณิชย์เชียงแสน
เป็นประตูการค้าระหว่างประเทศไทยกับประเทศในลุ่มแม่น้ำโขงตอนบนเพื่อส่งเสริมการขนส่งสินค้า ตามกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจว่าด้วยการเดินเรือพาณิชย์ในแม่น้ำล้านช้าง- แม่น้ำโขง มีประเทศสมาชิกประกอบด้วย ประเทศไทย สป.จีน สหภาพเมียนมา สปป.ลาว มีบริการด้านเครื่องมือ/อุปกรณ์สิ่งอำนวยความสะดวก ได้แก่ รถปั้นจั่นเคลื่อนที่ ขนาด 50 ตัน จำนวน 1 คัน, รถยก ขนาด 5 ตัน, รถยก ขนาด 2.5 ตัน, เครื่องชั่งน้ำหนักรถบรรทุกสินค้าขาเข้า - ขาออก, ลานจอดรถบรรทุก และ ปลั๊กเสียบตู้สินค้าห้องเย็น จะประกอบด้วยท่าเรือ ดังนี้
- ท่าเทียบเรือทางลาดด้านทิศเหนือ ความยาวท่าเทียบเรือ 300 เมตร มีเนื้อที่ 9,600 ตารางเมตร ความลึกหน้าท่า 2 – 2.5 เมตร
- ท่าเทียบเรือทางลาดด้านทิศใต้ ความยาวท่าเทียบเรือ 300 เมตร มีเนื้อที่ 9,600 ตารางเมตร ความลึกหน้าท่า 2 – 2.5 เมตร
- ท่าเทียบเรือแนวดิ่ง ความยาวท่าเทียบเรือ 200 เมตร มีเนื้อที่ 20,000 ตารางเมตร
- แอ่งจอดเรือ ขนาด 200 x 800 เมตร
5. ท่าเรือเชียงของ
ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำโขง ในเขตพื้นที่ของอำเภอเชียงของ จังหวัดเชียงราย โดยท่าเทียบเรือขนาดกว้าง 24 เมตร ยาว 180 เมตร ด้านหน้าติดแม่น้ำโขง ฝั่งตรงข้ามคือเมืองห้วยทราย แขวงบ่อแก้ว สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ด้านหลังติดถนนซึ่งเชื่อมระหว่างอำเภอเชียงแสน และอำเภอเชียงของ มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้บริการที่ท่าเรือเชียงของในลักษณะให้บริการในพื้นที่เดียวกัน (One Stop Service) คือ กรมศุลกากร กรมสรรพสามิต กรมขนส่งทางน้ำพาณิชยนาวี ด่านตรวจ คนเข้าเมือง ด่านสาธารณสุข ด่านกักสัตว์และพืช เป็นต้น เปิดให้บริการตลอด 24 ชั่วโมง เนื่องจากมีอุปกรณ์ทำความสว่างอย่างเพียงพอ และมีเจ้าหน้าที่ ให้บริการ 24 ชั่วโมง
- ท่าเทียบเรือโครงสร้างแบบล็อกคอนกรีตกว้าง 24 เมตร ยาว 108 เมตร สามารถให้บริการเรือ จอดเทียบท่า 80 - 150 ตัน หรือพร้อมกัน 3 - 5 ลำ
- การให้บริการพื้นที่จอดรถบรรทุกสินค้าภายในเขตท่าเรือเชียงของรถบรรทุก 10 ล้อ สามารถ จอดได้พร้อมกัน จำนวน 5 - 10 คัน
แหล่งที่มา : https://bit.ly/ HYPERLINK "https://bit.ly/3cAvWEK" HYPERLINK "https://bit.ly/3cAvWEK" HYPERLINK "https://bit.ly/3cAvWEK"3 HYPERLINK "https://bit.ly/3cAvWEK" HYPERLINK "https://bit.ly/3cAvWEK" HYPERLINK "https://bit.ly/3cAvWEK"cAvWEK