เจลล้างมือหรือที่เรียกว่าผลิตภัณฑ์ทําความสะอาดมือแบบไม่ต้องล้างน้ำออก มีทั้งชนิดเจล ของเหลว และสเปรย์ จัดเป็นผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางควบคุม ซึ่งมีส่วนประกอบสำคัญ คือ แอลกอฮอล์ (alcohol) ในปริมาณน้อยกว่าร้อยละ 70 อาจมีสารฆ่าเชื้อ เช่น ไตรโคลซาน, สารที่ทำให้เกิดสภาพเจล (gelling agent) เช่น carbomer สารให้ความชุ่มชื้นลด การแห้งของผิว (emollients) เช่น ว่านหางจระเข้(Aloe vera), tea tree oil และกลีเซอรอล, สีและน้ำหอมเป็นส่วนผสม หากผลิตภัณฑ์ดังกล่าวมีปริมาณแอลกอฮอล์เป็นส่วนผสม ตั้งแต่ร้อยละ 70 ขึ้นไป และใช้กับผิวหนังมนุษย์จะจัดเป็นยา เช่น แอลกอฮอล์ล้างแผล
แอลกอฮอล์ที่นิยมใช้เป็นส่วนผสมในการ ผลิตเจลล้างมือ คือ เอทานอล (ethanol หรือ ethyl alcohol) เป็นของเหลวใสไม่มีสีมีกลิ่นเฉพาะตัว และสามารถ ระเหยได้ดีแต่มีแอลกอฮอล์อีกชนิดหนึ่ง คือ เมทานอล (methanol หรือ methyl alcohol) ซึ่งเป็นแอลกอฮอล์ ที่มีพิษ ห้ามใช้กับร่างกาย ใช้ในสำหรับอุตสาหกรรมต่างๆ
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้เจลล้างมือที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ต่ำกว่า 70% เป็นเครื่องสำอาง ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย โดยออกประกาศดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้เครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์เพื่อสุขอนามัยสำหรับมือ โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อทำความสะอาดมือโดยไม่ใช้น้ำซึ่งมีความเข้มข้นของเอทิลแอลกอฮอล์ หรือเอธานอล (ethyl alcohol หรือ ethanol) ไอโซโพรพิลแอลกอฮอล์ หรือไอโซโพรพานอล (isopropyl alcohol หรือ isopropanol ) หรือเอ็น -โพรพิลแอลกอฮอล์ หรือเอ็น -โพรพานอล ( n -propyl alcohol หรือ n -propanol) เพียงสารเดียว หรือผสมรวมกันอยู่ต่ำกว่าร้อยละ 70 โดยปริมาตร (volume by volume ) เป็นเครื่องสำอาง ที่ห้ามผลิต นำเข้า หรือขาย
ข้อ 2 ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป ประกาศ ณ วันที่ 9 มี.ค.2563
ข้อความดังกล่าวนั้นอาจสรุปได้ว่า เจลล้างมือที่มีแอลกอฮอล์ผสม “มากกว่า” ร้อยละ 70 จัดเป็นเครื่องสำอางที่สามารถผลิต นำเข้า หรือจำหน่ายได้อย่างถูกกฎหมายซึ่งส่งผลให้ผู้ประกอบการเครื่องสำอางสามารถผลิตเจลล้างมือได้อย่างถูกต้องตามกฎหมายและยังเป็นการเปิดโอกาส ให้โรงงานผู้ผลิตเครื่องสำอางทั้งในและนอกประเทศ สามารถผลิตหรือสั่งนำเข้ามาจำหน่ายเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนเจลล้างมือได้โดยตรง
ทั้งนี้สามารถตรวจสอบเลขที่จดแจ้งก่อนเพื่อสร้างความมั่นใจได้ว่าจะได้รับผลิตภัณฑ์ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ 70 % โดยปริมาตรขึ้นไป ตามที่กฎหมายกำหนด ได้ที่เว็บไต์www.fda.moph.go.th หัวข้อ “ตรวจสอบผลิตภัณฑ์” หรือ Oryor Smart Application หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน อย.1556
การใช้เจลล้างมือให้ถูกหลักและปลอดภัย
1. ควรล้างมือให้สะอาดก่อนใช้เจลแอลกอฮอล์ แต่หากไม่สามารถล้างมือก่อนได้ แนะนำให้เช็ดคราบสกปรกออกให้ได้มากที่สุดก่อนใช้เจลแอลกอฮอล์ เพื่อให้เจลแอลกอฮอล์ออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด
2. เพื่อป้องกันการแพ้รุนแรงจากการใช้เจลแอลกอฮอล์ครั้งแรก แนะนำให้ทดสอบการแพ้ด้วยการใช้เจลปริมาณเล็กน้อยทาที่ท้องแขน แล้วรอ 5 นาที หากไม่มีปฏิกิริยาการแพ้เกิดขึ้น ให้ถือว่าไม่แพ้และสามารถใช้เจลแอลกอฮอล์ที่เลือกได้อย่างต่อเนื่อง
3. ไม่ควรสูดดมเจลแอลกอฮอล์เป็นระยะเวลานาน ๆ เนื่องจากอาจทำให้วิงเวียน คลื่นไส้ และเกิดผลเสียอื่น ๆ ต่อร่างกายตามมาได้
4. ควรทิ้งเจลแอลกอฮอล์หรือเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ทันทีหากพบว่าบรรจุภัณฑ์มีรอยแตก หรือพบว่าเนื้อเจลมีสีหรือกลิ่นที่เปลี่ยนไปจากเดิม
5. หลีกเลี่ยงการเก็บเจลล้างมือในที่ร้อนหรือมีแสงแดดส่องถึง เพื่อลดการระเหยของแอลกอฮอล์ในเจล
6. ควรปิดบรรจุภัณฑ์ให้สนิททุกครั้งหลังใช้งานทันที และไม่ควรเปิดฝาทิ้งไว้นาน ๆ ในขณะใช้งาน เพราะจะทำให้ประสิทธิภาพของเจลแอลกอฮอล์ลดลงได้
7. ไม่ควรสต๊อกเจลแอลกอฮอล์ไว้เยอะจนเกินไป เพื่อลดโอกาสในการนำของหมดอายุมาใช้งานโดยไม่รู้ตัว
8. ควรเก็บเจลแอลกอฮอล์ให้ห่างจากเตาแก๊สและเปลวไฟ เนื่องจากแอลกอฮอล์ที่อยู่ในเจลล้างมือมีคุณสมบัติติดไฟง่ายซึ่งอาจก่อให้เกิดอันตรายได้
แหล่งที่มา : https://www.prachachat.net/columns/news-431283
http://e-library.dmsc.moph.go.th/ebooks/files/%E0%B8%9C%E0%B8%A5%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%A0%E0%B8%B1%E0%B8%93%E0%B8%91%E0%B9%8C%E0%B9%80%E0%B8%88%E0%B8%A5%E0%B8%A5%E0%B9%89%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%A1%E0%B8%B7%E0%B8%AD.pdf