จากกรณีประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ลงนามระงับการให้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไปกับสินค้าไทยถึง 573 รายการ คิดเป็นมูลค่า 1,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือราว 39,650 ล้านบาท โดยให้เหตุผลว่า “ไทยล้มเหลวในการจัดสิทธิที่เหมาะสมให้กับแรงงานตามหลักสากล” ซึ่งสินค้าไทยจะโดนตัดสิทธิ GSP ตั้งแต่วันที่ 25 เมษายน 2563
GSP ย่อมาจาก (General of System of Preferences) คือ “สิทธิทางภาษีที่ประเทศที่พัฒนาแล้วบางประเทศให้กับประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย” โดยไม่ต้องเสียภาษี สินค้านำเข้าบางรายการเมื่อส่งสินค้าไปขายในประเทศผู้ให้สิทธิอีกทั้งเพื่อให้ประเทศที่กำลังพัฒนาสามารถส่งออกสินค้าไปแข่งกับสินค้าจากประเทศที่พัฒนาแล้ว หรือแข่งกับประเทศที่มีความสามารถในการผลิตสินค้าได้ราคาถูกและมีประสิทธิภาพ เช่น จีน เป็นต้น
ประโยชน์ของ GSP สำหรับประเทศที่ได้รับสิทธิ
หากเป็นประเทศที่กำลังพัฒนาการได้สิทธิ GSP จะเกิดกลไกขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศ เพราะเมื่อเราขายสินค้าได้ จะเกิดกระบวนการผลิตสินค้า, การจ้างงานและทำให้เศรษฐกิจของประเทศมีการขยายตัว ทำให้ความเป็นอยู่ของประชาชนและมาตรฐานการครองชีพคนงานในประเทศดีขึ้น
นอกจากนี้ GSP ยังมีส่วนช่วยผู้ประกอบการของประเทศผู้ให้เองสามารถลดต้นทุนในการผลิตสินค้า เมื่อนำเข้าวัตถุดิบจากประเทศที่ได้รับสิทธิ GSP เพราะไม่ต้องเสียภาษีนำเข้าอีกด้วย
การให้สิทธิ GSP
เป็นการให้สิทธิแบบฝ่ายเดียว คือประเทศที่ให้สิทธิ GSP ไม่ได้เรียกร้องผลประโยชน์ตอบแทนจากประเทศผู้รับ แต่เป็นการให้แบบ “มีเงื่อนไข” กล่าวคือประเทศที่จะได้รับสิทธิ GSP จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ผู้ให้วางไว้ อาทิ ประเทศสหรัฐอเมริกา
โดยประเทศผู้มีสิทธิ์ได้รับ GSP จากสหรัฐฯ จะต้องมีรายได้ของประชากรต่อหัว ไม่เกิน 12,476 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี (คิดเป็นเงินไทยราว 3.7 แสนบาท) ในส่วนประเทศไทยมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 6 พันเหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี (คิดเป็นเงินไทยราว 1.8 แสนบาท) และต้องเป็นประเทศที่ไม่สนับสนุน หรือเกี่ยวข้องกับการก่อการร้ายระหว่างประเทศ ต้องมีการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาในระดับที่ดีพอสมควร มีการคุ้มครองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล มีการขจัดการใช้แรงงานเด็ก และมีเงื่อนไขอื่นๆ ด้านการค้าและการปฏิบัติต่อสหรัฐฯอย่างเท่าเทียมกับประเทศอื่นๆ
ปัจจุบันสหรัฐฯให้สิทธิ GSP แก่ประเทศต่างๆ ประมาณ 125 ประเทศ ครอบคลุมสินค้าประมาณ 3,500 รายการ โดยสหรัฐเริ่มให้สิทธิทางภาษีแก่ประเทศต่างๆ โดยออกเป็นกฎหมายตั้งแต่ปี พ.ศ.2517
ทำไมสหรัฐฯ จึงตัดสิทธิ GSP ไทย
เนื่องจากไทยไม่จัดให้มีการรับรองสิทธิแรงงานตามมาตรฐานสากล ทั้งๆ ที่นโยบายและแนวปฏิบัติของไทยมีความพยายามปรับปรุงมาตรฐานและให้สิทธิแก่แรงงานเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงงานต่างชาติในภาคอุตสาหกรรมการประมง ซึ่งไทยได้ให้สัตยาบันในอนุสัญญา C188 ซึ่งเป็นอนุสัญญาที่เน้นการคุ้มครองสิทธิแรงงานใน ภาคอุตสาหกรรมการประมงและไทยได้ออกกฎหมายในประเทศเพื่อคุ้มครองสิทธิแรงงานอย่างเร่งด่วนหลายฉบับ
ผลของ TIP Report ที่สหรัฐฯ เลื่อนให้ไทยมีสถานะขึ้นมาจาก Tier 3 เป็น Tier 2 Watch List ยังสอดคล้องกับการที่สหภาพยุโรปได้ยกเลิกการให้ใบเหลืองเตือนเรื่องการทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ในประเทศไทยไปเมื่อต้นปีที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เราต้องไม่ลืมว่าการพิจารณาเรื่องการให้สิทธิพิเศษ GSP นั้น เป็นสิทธิและดุลยพินิจของประเทศที่ให้สิทธิเสมอ แม้ว่าทางไทยได้พยายามปรับปรุงประเด็นข้อท้วงติงต่างๆ แต่หากทางสหรัฐฯ พิจารณาว่าการรับรองสิทธิแรงงานในไทยยังไม่ดีพอ ไทยก็ทำได้เพียงแต่การชี้แจงข้อเท็จจริงให้กระจ่างแก่สหรัฐฯ โดยต้องรายงานและอธิบายข้อเท็จจริงให้ทางสหรัฐฯ อย่างโปร่งใส และทราบถึงที่มาที่ไปในการแก้ไขปรับปรุงการคุ้มครองและรับรองสิทธิแรงงานในไทย ซึ่งควรเร่งจัดทำรายงานที่แสดงหลักฐานที่เป็นรูปธรรม เพื่อจูงใจให้ทางสหรัฐฯ ทบทวนการตัดสินใจยกเลิกการให้สิทธิ GSP ในครั้งนี้
ผู้ประกอบการควรปรับตัวอย่างไร
การที่ผู้ประกอบการไทยจะก้าวข้ามปัญหากำแพงภาษีนำเข้าในสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากการถูกยกเลิกสิทธิ GSP นั้น มีอยู่ 2 วิธี
1. ต้องทำให้ต้นทุนในการผลิตต่ำลง โดยยังคงคุณภาพของสินค้าไว้ โดยต้องเพิ่มการใช้เทคโนโลยีในการผลิต หรือเลือกผลิตสินค้าที่เหมาะสมกับสภาพภูมิศาสตร์ในบ้านเราเป็นหลัก
2. ต้องพัฒนาคุณภาพและอัตลักษณ์ของสินค้าไทย ในปัจจุบันผู้บริโภคในประเทศที่พัฒนาแล้ว รวมทั้งในสหรัฐฯ ต้องการรับรู้ที่มาที่ไปของสินค้า สินค้าที่ขายดีและมีมูลค่าทางเศรษฐกิจมากในตลาดการค้าระหว่างประเทศมักไม่ใช่สินค้าที่ถูกที่สุด
แต่เป็นสินค้าที่ผู้บริโภคเชื่อมั่นในแหล่งที่มา ในคุณภาพทั้งด้านกายภาพและวิธีการผลิต และเป็นสินค้าที่มีอัตลักษณ์หรือมีเรื่องราวน่าสนใจ การพัฒนาคุณภาพและอัตลักษณ์ของสินค้าไทยจะเป็นการแก้ไขปัญหาที่จะทำให้ผู้ประกอบการไทยก้าวข้ามประเด็นราคาสินค้าไทยในตลาดสหรัฐฯ ที่เพิ่มขึ้นจากการถูกยกเลิกสิทธิพิเศษทางภาษี GSP ได้อย่างยั่งยืน
https://news.mthai.com/webmaster-talk/771085.html
https://thestandard.co/gsp/