10 ประเภทสินค้า(Special cargo) ที่ต้องการการดูแลเป็นพิเศษขนส่งทางเครื่องบิน
สินค้าประเภทวัตถุอันตราย
สินค้าประเภทวัตถุอันตราย หมายถึง วัตถุหรือสิ่งของที่โดยคุณสมบัติของมันเองก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพของมนุษย์ ความปลอดภัย หรือทรัพย์สินได้ การขนส่งทางอากาศกระทำได้โดยจำกัดปริมาณการบรรจุตามวิธีการบรรจุที่ระบุไว้ในระเบียบปฏิบัติว่าด้วยการขนส่งสินค้าอันตราย ซึ่งการจัดประเภทสินค้าอันตรายถูกกำหนดจากลักษณะของอันตรายของสารนั้น
สินค้าแตกหักง่าย
สินค้าแตกหักง่าย หมายถึง สินค้าที่มีลักษณะบอบบาง เปราะ หรือแตกหักเสียหายง่ายหากเกิดการกระทบ กระแทก ถูกทับ หรือตกในระหว่างที่ทำการขนส่ง ได้แก่ เครื่องแก้วเครื่องปั้นดินเผา เครื่องลายคราม เป็นต้น การขนส่งจะต้องบรรจุในหีบห่อที่แข็งแรง เช่น ลงไม้และควรเป็นหีบห่อใหม่หากเคยใช้แล้วต้องอยู่ในสภาพที่ดีแข็งแรง หีบห่อของสินค้าแตกหักง่าย
จะต้องติดป้าย “ของแตกหักง่าย”และป้าย “ตั้งตามลูกศร”
สินค้าน้ำหนักมากและสินค้าขนาดใหญ่ (HEA/BIG)
สินค้าหนัก หมายถึง สินค้าที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 150 กิโลกรัมขึ้นไปต่อหนึ่งหีบ
สินค้าขนาด ใหญ่ หมายถึง สินค้าที่มีขนาด กว้าง หรือยาวเกินขนาดของแผ่นบรรทุกสินค้า 88"x125",96x125" หรือมีขนาดที่ยากต่อการจัดบรรทุกในเครื่องบิน แบบลำตัวแคบ สินค้าน้ำหนักมากและสินค้าขนาดใหญ่จะต้องได้รับการยืนยันการทำสำรองระวางบรรทุกก่อนการรับขนส่งทุกครั้ง
ศพมนุษย์ (HUM)
การรับขนส่งนพมนุษย์จะต้องมีเอกสาร “ใบมรณะบัตร” ประกอบการขนส่งศพจะต้องบรรจุอยู่ในโลงที่แข็งแรงและมีที่จับยึดภายนอกคลุมด้วยผ้าใบ ส่วนอัฐิจะต้องใส่ในภาชนะบรรจุที่ไม่แตกง่ายมีวัตถุกันกระแทกและจะต้องมีเอกสาร “ใบฌาปนกิจ”แนบมาด้วย
สัตว์มีชีวิต (AVI)
การรับส่งสัตว์มีชีวิตจะต้องเป็นไปตามระเบียบว่าด้วยการขนส่งสัตว์มีชีวิตภายใต้เงื่อนไขดังต่อไปนี้
- สุขภาพของสัตว์จะต้องไม่ป่วยหรือป่วยหรือเป็นโรค ต้องได้รับการดูแลระหว่างการขนส่งเป็นอย่างดีและห้ามรับขนส่งสัตว์ที่กำลังท้องแก่
-กรงที่ใช้ขนส่งสัตว์ต้องเหมาะสมกับชนิดของสัตว์นั้นๆ ต้องสะอาดและกันน้ำรั่วซึม
ตลอดจนง่ายต่อการขนถ่ายพร้อมทั้งติดป้าย “สัตว์มีชีวิต”
-อาหารที่นำมาเพื่อเลี้ยงดูสัตว์จะต้องรวมอยู่ในน้ำหนักที่ใช้คิดค่าระวางสินค้า
-การขนส่งสัตว์มีชีวิตจะต้องมีการสำรองระวางบรรทุกไว้ล่วงหน้า ตลอดเส้นทางบิน
วัตถุที่มีลักษณะเป็นแม่เหล็ก (MAG)
สินค้าแม่เหล็ก หมายถึง สินค้าที่คุณสมบัติสามารถเกิดสนามแม่เหล็กซึ่งมีผลต่อระบบนำร่องของเครื่องบิน เช่น เข็มทิศ เรดาร์ โดยหีบห่อของสินค้าแม่เหล็กจะต้องติดป้าย “สินค้าแม่เหล็ก” ด้วย
สินค้าของสดหรือที่เสียง่าย (PER)
สินค้าของสดเสียง่าย หมายถึง สินค้าที่ง่ายต่อการเน่าเปื่อยหรือบูดเน่าได้ง่าย เช่นผลิตภัณฑ์จากนม เนื้อสัตว์ ปลาสด พืช ผักและผลไม้ เป็นต้น การรับขนส่งสินค้าประเภทนี้จะต้องมีการเตรียมการล่วงหน้าและมีทำสำรองระวางบรรทุกตลอดเส้นทางบินแต่ละหีบห่อของสินค้าของสดเสียง่ายจะต้องติดป้าย “ของสดเสียง่าย”และป้าย “ตั้งตามลูกศร”
สินค้ามีค่า (VAL)
สินค้ามีค่า หมายถึง สินค้าดังต่อไปนี้
- สินค้าที่มีการประเมินราคาเพื่อการขนส่งเกิน 1000 ดอลลาร์สหรัฐต่อน้ำหนักรวม 1กิโลกรัม
- ทองคำหรือทองคำขาว ทั้งที่หลอมแล้วหรือยังไม่ได้หลอมในรูปแบบต่างๆ
-ธนบัตร ตั๋วเงิน เช็คเดินทาง ใบหุ้น ใบกู้ดวงตราไปรษณีย์และบัตรเครดิต
-อัญมณีมีค่า ได้แก่เพชร ทับทิม มรกต พลอยไพลิน มุกดาไข่มุกและไข่มุกเลี้ยง
- เครื่องประดับที่ทำด้วยอัญมณีมีค่า
การรับสินค้ามีค่าต้องมีการควบคุมดูแลการขนส่งอย่างรัดกุมปลอดภัยในทุกขั้นตอนและต้องมีการทำสำรองระวางบรรทุกตลอดเส้นทางบินไม่ควรมีจุดเปลี่ยน เครื่องหรือถ้ามีก็ให้น้อยที่สุดและหีบห่อของสินค้ามีค่าต้องมั่นคงแข็งแรง
สินค้าที่เสี่ยงต่อการสูญหาย (VUN)
สินค้าที่เสี่ยงต่อการสูญหาย หมายถึง สินค้าที่ไม่เข้าข่ายสินค้ามีค่า แต่มีลักษณะและขนาดที่เอื้ออำนวยหรือมีราคาจูงใจให้เกิดการลักขโมยหยิบ ฉวยได้ง่าย ได้แก่ กล้องถ่ายรูป นาฬิกาข้อมือ เครื่องคิดเลข เป็นต้น
สินค้าที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบ (WET)
สินค้าที่มีน้ำเป็นองค์ประกอบต้องมีการบรรจุหีบห่อและการจัดบรรทุกอย่าง
ระมัดระวังเป็นพิเศษ เพื่อป้องกัน น้ำรั่วซึมออกมาทำให้สินค้าอื่นเสียหาย หรือกัดกร่อนอุปกรณ์ บรรทุกสินค้าและห้องบรรทุกสินค้าภายในท้องเครื่องบิน ให้เกิดความเสียหายได้ โดยเฉพาะสินค้าที่มีองค์ประกอบของน้ำเค็ม หรือเป็นน้ำที่ออกมาจากสินค้าประเภทอาหารทะเล หีบห่อของสินค้าประเภทนี้จึงต้องกันน้ำรั่วซึมได้อย่างดีซึ่งส่วนใหญ่จะใช้กล่องโฟม