RCEP คืออะไร?
RCEP หรือ ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจระดับภูมิภาค (Regional Comprehensive Economic Partnership) เขตการค้าเสรีที่ใหญ่ที่สุดของโลกมีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2565 โดยมีไทยเป็น 1 ใน 15 ประเทศที่ร่วมก่อตั้งซึ่งประกอบด้วย สมาชิกอาเซียน 10 ประเทศ และประเทศคู่เจรจาอาเซียนอีก 5 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ครอบคลุมประชากรกว่า 2,200 ล้านคน และมีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ หรือ จีดีพี (GDP) รวมกันมากถึง 26.2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 793 ล้านล้านบาท มีวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนาสร้างความร่วมมือทั้งด้านการค้าและการลงทุนรวมทั้งลดและมาตรการกีดกันทางการค้า ส่งผลโดยตรงกับ การพัฒนาโลจิสติกส์และการท่องเที่ยวของประเทศสมาชิก
สำหรับประโยชน์ที่ไทยจะได้รับจากความตกลง RCEP เช่นสมาชิก RCEP ยกเลิกภาษีนำเข้าที่เก็บกับสินค้าไทย จำนวน 39,366 รายการ โดยลดภาษีเหลือ 0% ทันที จำนวน 29,891 รายการ ในส่วนของจีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ จะลดและยกเลิกภาษีศุลกากรกับสินค้าที่ส่งออกจากไทย เพิ่มเติมจาก FTA ที่มีอยู่ในสินค้า เช่น ผลไม้สดและแปรรูป สินค้าประมง น้ำผลไม้ ยางพาราและผลิตภัณฑ์ยาง รถยนต์และส่วนประกอบ พลาสติก เคมีภัณฑ์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้า และคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ เป็นต้น
นอกจากนี้ ความตกลง RCEP จะช่วยอำนวยความสะดวกทางการค้าแก่สมาชิกอีกด้วยเช่น สินค้าที่เน่าเสียง่ายจะได้รับการตรวจปล่อยพิธีการศุลกากรภายใน 6 ชั่วโมง และสินค้าปกติภายใน 48 ชั่วโมง และการขยายโอกาสในธุรกิจบริการของไทยสู่ประเทศสมาชิก RCEP เช่น ก่อสร้าง ค้าปลีก สุขภาพ ภาพยนตร์และบันเทิง เป็นต้น
RCEP ยังส่งผลให้การแข่งขันระหว่างธุรกิจต่างๆสูงขึ้นเนื่องจากกำแพงภาษีลดลงทำให้การส่งออกและนำเข้าสินข้าเพิ่มมากขึ้น ผู้ประกอบการจะต้องวางแผนและเตรียมตัวสำหรับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะสามารถแข่งขันกับผู้ประกอบการรายอื่นได้
แหล่งที่มา
https://rcepsec.org/
https://bbc.in/33Hy4LT
https://bit.ly/3nEjxrj
https://bit.ly/3rwSeAA