EEC คืออะไร?
EEC ย่อมาจาก Eastern Economic Corridor ภาษาไทยเรียกว่า โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก เป็นแผนยุทธศาสตร์ภายใต้ ไทยแลนด์ 4.0 ด้วยการพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่ต่อยอดความสำเร็จมาจาก แผนพัฒนาเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ Eastern Seaboard ซึ่งดำเนินมาตลอดกว่า 30 ปีที่ผ่านมาและมีเป้าหมายหลักในการเติมเต็มภาพรวมในการส่งเสริม การลงทุนซึ่งจะเป็นการยกระดับอุตสาหกรรมของประเทศเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและทำให้ เศรษฐกิจของไทยเติบโตได้ในระยะยาว โดยในระยะแรกจะเป็นการยกระดับพื้นที่ในเขต 3 จังหวัดคือ ชลบุรี, ระยอง, และ ฉะเชิงเทรา
EEC เป็นโครงการที่รัฐบาลผลักดันให้เป็นศูนย์กลางการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีแผนงานทั้งด้านการส่งเสริมการลงทุน การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่ง และสิ่งอำนวยความสะดวกที่เกี่ยวข้องเพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งไทยและเทศให้เข้าไปพัฒนาอุตสาหกรรมแห่งอนาคตในพื้นที่ภาคตะวันออกเช่น โครงการโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะที่ 3 ซึ่งเป็นที่เชื่อกันว่าการขยายตัวของอุตสาหกรรมในเขต EEC จะทำให้ประเทศไทยมีการขยายตัวทั้งในส่วนของเศรษฐกิจภายในประเทศและการค้าระหว่างประเทศทั้งการนำเข้าวัตถุดิบเพื่อการผลิตและการส่งออกสินค้าไปยังตลาดโลก และเป็นแกนหลักในการพัฒนาประเทศในระยะต่อไป
อย่างไรก็ตาม หาก EEC ประสบความสำเร็จในการดึงดูดนักลงทุน ปริมาณสินค้าที่เพิ่มขึ้นตามการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในพื้นที่จะมีจำนวนมาก และอาจทำให้เกิดปัญหาต่อระบบการกระจายสินค้าหากมีการวางแผนหรือมีการเตรียมความพร้อมไม่มากพอ โดยเฉพาะความแออัดในบริเวณท่าเรือหลัก อาทิ ท่าเรือแหลมฉบัง ท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือเอกชนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งจำเป็นต้องแก้ไขโดยการเชื่อมโยงการขนส่งระบบรางระหว่างนิคมอุตสาหกรรมทั้งหมดไปยังท่าเรือแต่ละแห่งโดยตรง หรือการลงทุนจัดตั้งสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง หรือ Inland Container Depot (ICD) ในพื้นที่ภาคตะวันออก อาทิ ชลบุรี ระยอง และจันทบุรี เป็นต้น เพิ่มเติมจากแผนงานที่กระทรวงคมนาคมจะมีการจัดตั้งในบริเวณจังหวัดฉะเชิงเทราเพื่อรองรับปริมาณสินค้าที่หนาแน่นใน ICD ลาดกระบัง เพื่อรองรับการขยายตัวของการส่งออกสินค้าที่ผลิตโดยวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม รวมถึงการค้าในระบบ E-Commerce ซึ่งจะมีปริมาณการซื้อขายและส่งมอบสินค้าในแต่ละครั้งไม่มากนัก จึงต้องมีสถานที่สำหรับรวบรวมและบรรจุสินค้าในตู้คอนเทนเนอร์ภายในพื้นที่ก่อนส่งเข้าไปยังท่าเรือเพื่อขนส่งเข้าไปยังท่าเรือแหลมฉบังและต้องมีการพัฒนาจุดขนถ่ายสินค้าทางรางภายในท่าเรือแหลมฉบังให้สามารถรับและกระจายสินค้าได้มากกว่า 60% เพื่อให้มีความสะดวกและลดต้นทุนการขนส่งทางถนนที่ค่อนข้างสูงในปัจจุบัน
แหล่งที่มา https://sites.google.com/site/bbboseec/1-eec-khux-xari