Elastic Logistics คืออะไร?
เมื่ออุปสงค์และอุปทาน (demand and supply) ของธุรกิจในปัจจุบันเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงและรวดเร็ว ธุรกิจจำเป็นต้องมองหาแนวทางที่สามารถรับมือและบริหารจัดการสินค้าให้สอดคล้องกับความต้องในการตลาดได้อย่างเร่งด่วนที่สุด ไม่ใช่เพียงเพื่อช่วงชิงความได้เปรียบทางการค้าเท่านั้น แต่ความสามารถในการปรับตัวและปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ได้อย่างรวดเร็วยังหมายถึงความอยู่รอดและการเติบโตของธุรกิจในระยะยาวอีกด้วย นี่จึงเป็นอีกหนึ่งประตูสำคัญที่เปิดทางให้ Elastic Logistics แนวทางการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่นเป็นหลักเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมฯ และได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นมากอย่างรวดเร็ว
ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมานี้ มีหลายองค์กรต่างเห็นพ้องว่าแนวคิดการบริหารจัดการแบบ Lean Logistics ที่เน้นการลดความสูญเปล่า ทั้งด้านต้นทุน เวลา และขั้นตอนการดำเนินการ สามารถตอบโจทย์ธุรกิจได้เป็นอย่างดี ทั้งในแง่ของการเพิ่มมูลค่าให้กับองค์กร เพิ่มความพึงพอใจแก่ลูกค้า และปรับปรุงกระบวนการด้านโลจิสติกส์ให้มีความคล่องตัวขึ้น แต่ด้วยภาวะความผันผวนของอุปสงค์และอุปทานในตลาดปัจจุบันที่ยากต่อการคาดการณ์ล่วงหน้า บวกกับทิศทางธุรกิจในปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทำให้ผู้ดำเนินธุรกิจต้องมองหาแนวทางในการรับมือกับความท้าทายเหล่านี้ได้อย่างยืดหยุ่น คุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และสอดรับกับสถานการณ์ตลาดมากยิ่งขึ้น นั่นจึงทำให้แนวคิดการบริหารจัดการด้านโลจิสติกส์แบบ Elastic logistics เข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
Elastic Logistics
Elastic logistics เป็นแนวคิดด้านการบริหารจัดการโลจิสติกส์ที่มุ่งเน้นความยืดหยุ่น ซึ่งจะช่วยให้การจัดการซัพพลายเชนเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นในภาวะที่ความต้องการซื้อ-ขายสินค้าและบริการมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดย Elastic logistics ให้ความสำคัญกับการปรับปรุงขั้นตอนและกระบวนการโลจิสติกส์ให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด ไม่ว่าจะเป็นการปรับเพิ่มหรือลดสเกลการปฏิบัติการ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่างๆ อาทิ การจัดการกองรถบรรทุก/เรือที่ไม่ได้ใช้งาน ภาวะขาดแคลนพื้นที่จัดเก็บสินค้า และการมีสินค้าคงคลังมากเกินไป รวมไปถึงการเลือกใช้ผู้ให้บริการอื่นๆ เพื่อเติมเต็มความต้องการด้านการปฏิบัติการในรูปแบบต่างๆ
โดย Elastic logistics มีรูปแบบการจัดการกระบวนการโลจิสติกส์ที่ยืดหยุ่น คล่องตัว และใช้ความต้องการในตลาดเป็นฐานในการกำหนดระยะเวลาดำเนินการ ต้นทุน ตลอดจนแนวทางการปฏิบัติการ ซึ่งธุรกิจสามารถนำข้อมูลที่ได้จากการจัดเก็บและรวบรวมผ่านระบบบริหารการขนส่ง (TMS) ระบบการจัดการกองรถ/เรือ ข้อมูลและสถานะการบรรทุกสินค้า ระบบการจัดการซัพพลายเชน และ Big data เข้ามาใช้ในการประเมินและวางแผน จึงกล่าวได้ว่าส่วนสำคัญของการจัดการโลจิสติกส์โดยมุ่งเน้นความยืดหยุ่นนี้จำเป็นจะต้องพึ่งพาข้อมูลต่างๆ ในแต่ละส่วนของซัพพลายเชนเป็นอย่างมาก
แหล่งที่มา : https://bit.ly/3ntYXZB