กรมศุลกากรจะมีเก็บภาษี สินค้าที่ราคาต่ำกว่า 1,500 บาท
นายพชร อนันตศิลป์ อธิบดีกรมศุลกากร เปิดเผยว่า นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง ได้สั่งการให้กรมศุลกากรเร่งศึกษาแนวทางลดผลกระทบต่อเอสเอ็มอีไทยจากกรณีที่กรมศุลกากรยกเว้นการจัดเก็บภาษีนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% ให้กับสินค้าที่มีการส่งพัสดุทางไปรษณีย์จากต่างประเทศ ที่มีราคาไม่เกินชิ้นละ 1,500 บาท ซึ่งจากปัจจุบันทางกรมศุลกากรยกเว้นการจัดเก็บภาษีสำหรับสินค้าที่มูลค่าสินค้า รวมค่าประกันและค่าขนส่ง ไม่เกิน1,500 บาท
เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอี ผู้ผลิตสินค้าในประเทศกับสินค้าที่นำเข้าจากต่างประเทศ เพราะที่ผ่านมาสินค้าที่ผลิตจากเอสเอ็มอีไทยจะเสียภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นอัตโนมัติอยู่แล้ว แต่สินค้าที่สั่งนำเข้ามาทางไปรษณีย์จากต่างประเทศหากราคาไม่ถึงเกณฑ์ก็ได้รับการยกเว้นภาษีทั้งหมด
โดยช่วงที่ผ่านมาพบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคมีการสั่งสินค้านำเข้าทางไปรษณีย์จากต่างประเทศจำนวนมากขึ้น โดยส่วนใหญ่ซื้อราคาไม่ถึง 1,500 บาท ซึ่งได้รับการยกเว้นอากรนำเข้าและภาษีมูลค่าเพิ่ม ดังนั้นกรมศุลกากรกำลังศึกษาว่ามีช่องทางใดที่ทำได้บ้าง ในการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มกับสินค้าที่มีการส่งทางพัสดุมาจากต่างประเทศ เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกัน แต่ต้องไม่ให้เกิดข้อพิพาทระหว่างประเทศ โดยเบื้องต้นอาจใช้มาตรการที่ไม่ใช้ภาษี หรือใช้กฎหมายภายในประเทศ เช่น กฎหมายกรมสรรพากร หรือกฎหมายสรรสามิตมาใช้
ทั้งนี้ ปัจจุบันมีจำนวนพัสดุที่มีการสั่งเข้ามาจากต่างประเทศอยู่ที่ประมาณ 35 ล้านกล่องต่อปี คิดเป็นมูลค่าประมาณ 20,000 ล้านบาท โดยในจำนวนนี้มีประมาณ 24 ล้านกล่อง ที่มีมูลค่าสินค้าต่ำกว่า 1,500 บาท ซึ่งหากมีการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม จะทำให้รัฐบาลมีรายได้เพิ่มประมาณ 700 ล้านบาท ซึ่งถือว่าไม่มากเมื่อเทียบกับกับรายได้ของกรมฯ ต่อปีที่เกือบ 1 แสนล้านบาท แต่ประเด็นสำคัญคือเป็นการช่วยเพิ่มความเท่าเทียมในการแข่งขันให้กับเอสเอ็มอีไทย
การส่งของทางไปรษณีย์/พัสดุเร่งด่วน
การส่งของทางไปรษณีย์ ของที่นำเข้ามาในราชอาณาจักรไทย จะถูกคัดแยกออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้
ประเภทที่ 1 คือ ของซึ่งแต่ละหีบห่อมีราคารวมค่าขนส่งและค่าประกันภัยไม่เกิน 1,500 บาท หรือตัวอย่างสินค้าที่ใช้ได้แต่เพียงเป็นตัวอย่างและ ไม่มีราคาในทางการค้า และไม่เป็นของต้องห้ามหรือต้องกำกัดในการนำเข้า เป็นของยกเว้นอากรขาเข้า ภาษีสรรพสามิต และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะส่งมอบให้บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับต่อไป
ประเภทที่ 2 คือ ของที่ส่งจากผู้ส่งคนหนึ่งถึงผู้รับคนหนึ่งในคราวเดียวกันหรือเข้ามาถึงพร้อมกัน ไม่ว่าจะมีจำนวนกี่หีบห่อหากมีราคาสินค้า รวมกันไม่เกิน 40,000 บาท และไม่เป็นของต้องห้ามต้องกำกัด หรือของที่ต้องส่งตัวอย่างวิเคราะห์สินค้าก่อนปล่อย เป็นของต้องชำระอากร โดยเจ้าหน้าที่ศุลกากรเปิดตรวจของต่อหน้าเจ้าหน้าที่ไปรษณีย์ไทย จำกัด ประเมินราคาและค่าภาษีอากรทุกประเภท เจ้าหน้าที่ศุลกากรส่งมอบของให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำจ่ายให้ผู้รับ ณ ที่ทำการไปรษณีย์ใกล้ที่อยู่ของผู้รับ ผู้รับของ นำ "ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ" ที่ระบุที่ทำการไปรษณีย์ให้ไปติดต่อรับของ / ชำระภาษีอากร ไปชำระภาษีอากร ณ ที่ทำการไปรษณีย์ การโต้แย้งการประเมินภาษีอากร
ประเภทที่ 3 ของอื่นๆ นอกจากประเภทที่ 1 และ 2 เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะส่งมอบของให้ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด เพื่อนำไปเก็บรักษาในโรงพักสินค้า บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด หรือส่งไปที่ สำนักงาน/ด่านศุลกากรแล้วแต่กรณี ผู้รับของนำ "ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ" ไปติดต่อรับของ / ชำระภาษีอากร ณ ส่วนบริการศุลกากรไปรษณีย์ หรือสำนักงาน/ด่านศุลกากรที่ระบุไว้ในใบแจ้งฯ
การปฏิบัติพิธีการศุลกากรสำหรับของประเภทที่ 3 สามารถดำเนินการได้ 2 กรณี คือ
1. กรณีของมีราคาของสินค้า เกินกว่า 40,000 บาท ผู้รับของจะต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้าโดยการส่งข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์เข้าระบบคอมพิวเตอร์ของกรมศุลกากร
2. กรณีของมีราคาของสินค้า ไม่เกิน 40,000 บาท ผู้รับของไม่ต้องจัดทำใบขนสินค้าขาเข้า เจ้าหน้าที่ศุลกากรจะประเมินราคาและจัดเก็บค่าภาษีอากร ณ จุดเดียวกัน
เอกสารที่ต้องใช้ในการขอรับสิ่งของ
1. กรณีผู้มีชื่อรับของตามที่ระบุในใบแจ้งฯ ขอรับสิ่งของด้วยตนเอง
- ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ
- บัตรประจำตัวประชาชน หรือบัตรที่ทางราชการออกให้ หรือหนังสือเดินทาง (กรณีผู้รับของเป็นชาวต่างชาติ)
2. กรณีมอบอำนาจให้ผู้อื่นรับสิ่งของแทน
- ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ โดยให้ผู้มีชื่อรับของบันทึกรายละเอียดการมอบอำนาจให้แก่ผู้รับมอบอำนาจ พร้อมลงลายมือชื่อรับรองทั้ง 2 ฝ่าย ที่ด้านหลังใบแจ้งฯ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนา
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนา
3. กรณีผู้รับสิ่งของเป็นนิติบุคคล เช่น บริษัท ห้างหุ้นส่วนจำกัด
- ใบแจ้งให้ไปรับสิ่งของส่งทางไปรษณีย์ระหว่างประเทศ โดยให้ผู้มีอำนาจลงนาม พร้อมประทับตราบริษัทที่ด้านหลังใบแจ้งฯ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของเจ้าของ หรือผู้จัดการ หรือสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีอำนาจลงนามในเอกสารผูกพันนิติบุคคลนั้นๆ และลงนามรับรองสำเนา
- สำเนาหนังสือรับรองการจดทะเบียนบริษัท ห้างฯ ร้าน (ที่มีอายุไม่เกิน 6 เดือน) และ ลงนามรับรองสำเนาพร้อมประทับตราบริษัทฯ
- สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของผู้รับมอบอำนาจ และลงนามรับรองสำเนา
หมายเหตุ รับมอบอำนาจจะมอบอำนาจต่อให้บุคคลอื่นอีกไม่ได้
แหล่งที่มา : https://bit.ly/3rXmyT8, https://bit.ly/3d0YBGp